วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Vitamin C



หนึ่งในวิตามินยอดนิยมตลอดกาลคงจะหนีไม่พ้นวิตามินซี เราสามารถหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามิซีได้ไม่ยาก แต่การจะหาผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินซีในรูปแบบปละปริมาณเข้มข้นจริง ๆ นั้นเหมือนการงมเข็มในโอ่งทั่วราชบุรี (ก็ยังดีที่หาง่ายกว่าหาในทะเล) เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็คือวิตามินซีมีอยู่หลายรูปแบบ ซึงมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพมากน้อยไม่เท่ากัน ยังมีปัจจัยเรื่องความเข้มข้น ค่า pH และความเหมาะสมของบรรจุภัณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย





เรามักจะนึกถึง "ส้ม" เป็นอันแรกถ้าถามถึงผลไม้ที่มีวิตามินซี แต่จริง ๆ แล้ว "ฝรั่ง" หรือ "บล็อคโคลี่" นั้นมีวิตามินซีมากกว่าส้มอีกนะ


การที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากวิตามินซีนั้นไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วเดินสุ่มเข้าไปซื้อที่เคาเตอร์ตามคำโฆษณาก็จะได้ของดีมีประสิทธิภาพมาใช้ แต่จำเป็นต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานกันสักหน่อยว่า Vitamin C ตัวไหนที่เราควรมองหา และคาดหวังประสิทธิภาพอะไรได้บ้าง






ประเภทของ Vitamin C


Vitamin C ในรูปแบบดั้งเดิมก็คือ Ascorbic Acid / L- Ascorbic Acid ซึ่งไม่เสถียรและเสื่อม ( Oxidize) ได้ง่ายเมื่อโดนแสง ออกซิเจน รวมถึง “น้ำ” ด้วย จึงมีการพัฒนาวิตามินซีรูปแบบอื่นขึ้นมาเรียกว่า “อนุพันธ์วิตามินซี” หรือ Vitamin C Derivatives ซึ่งมีอยู่มากมายหลายตัว คุณสมบัติก็แตกต่างกันด้วยเช่นกัน ซึ่งจะขออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่าง






Vitamin C (Ascorbic Acid / L- Ascorbic Acid)


ว่ากันว่าวิตามินซีแบบ Ascorbic Acid เป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งให้ประโยชน์กับผิวได้หลากหลายเริ่มตั้งแต่

- Antioxidant ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอริ้วรอย

- ลดความเสียหายจากรังสี UV

- กระตุ้นการสร้างคอลาเจน ช่วยลดเลือนริ้วรอยเล็ก ๆ ได้

- ลดเลือนจุดด่างดำ ทำให้ผิวขาวขึ้น

แต่การที่จะได้ประโยชน์จาก Ascorbic Acid จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้


ค่า pH


ค่า pH ของผลิตภัณฑ์ก็มีความสำคัญมากกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Ascorbic Acid หรือ L-ascorbic Acid เนื่องจากวิตามิซีในรูปแบบดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพเมื่อค่า pH ของผลิตภัณฑ์ เป็นกรด (3.5 หรือต่ำกว่า) ซึ่งค่า pH ที่เป็นกรดนี้อาจทำให้เกิดการระคายเคือง แดง และ แสบยิบ ๆ เล็กน้อยชั่วคราวเมื่อใช้แรก ๆ บริษัทเครื่องสำอางบางยี่ห้อจึงหลีกเลี่ยงการถูกผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าอาการแดงแสบยิบ ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้คืออาการแพ้ จึงทำการปรับค่า pH ของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้นจนเป็นกลาง (4.5 – 7 ) ซึ่งไม่ทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองแต่ก็ทำให้วิตามินซีไม่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน



ความเข้มข้น


ขึ้นอยู่ว่าเราต้องการผลลัพธ์ในด้านใดบ้าง ถ้าหวังแค่เรื่องแอนติออกซิแดนท์ ความเข้มข้น 2 % ก็ถือว่าโอเคแล้ว แต่ถ้าหวังว่าจะให้วิตามินซีช่วยกระตุ้นการสร้างคอลาเจนหรือลดเลือนจุดด่างดำได้ ก็ต้องใช้ที่ความเข้มข้น 5% ขึ้นไป ระดับความเข้มข้นที่แนะนำจริงๆ ก็คือ 10 % หรือมากกว่า... แต่ก็ไม่ควรเกิน 20 %

ความเข้มข้นที่เหมาะจะเริ่มก็คือ 10% ถ้าสามารถรับได้ จะขยับขยายเพิ่มไปเป็น 12 หรือ 15% ก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกระคายเคืองก็ต้องลดความเข้มข้นลงมาหน่อย



เนื้อผลิตภัณฑ์


วิตามินซีในรูป Ascorbic Acid หรือ L-ascorbic Acid นั้นมีประสิทธิภาพมากแต่ก็ไม่ค่อยเสถียรสักเท่าไหร่ เมื่อเจออากาศและแสงจะเกิดการ Oxidize จนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซึ่งจะทำให้วิตามินซีไร้ประสิทธิภาพใด ๆ และอาจก่ออันตรายให้ผิวได้อีกด้วย บริษัทเครื่องสำอางเลยใช้วิธีขี้โกงด้วยการผสมสีให้เนื้อผลิตภัณฑ์มีสีเหลือง จะได้ดูไม่ออกว่าวิตามินซีในนั้นมันเสื่อมรึยัง ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่มาก ดังนั้นคุณจึงควรมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะใส ไม่ผสมสี เพื่อที่จะตรวจได้ว่าวิตามินซีเสื่อมสภาพรึเปล่า



บรรจุภัณฑ์


การเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะคงทราบกันดีแลวว่าวิตามินซีเสื่อมสลายได้ง่ายเมื่อเจอออกซิเจนและแสง บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระปุกจะทำให้วิตามินซีเสื่อมสภาพไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่เปิดฝาตักครีมขึ้นมาใช้ หลอดบีบหรือขวดปั้มที่ใสหรือโปร่งแสงก็ทำให้วิตามินเสื่อมไปได้เรื่อย ๆ อีกเหมือนกัน

บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมในการเก็บรักษาวิตามินซีควรจะลดโอกาสที่วิตามินจะสัมผัสกับแสงหรือออกซิเจนให้ได้มากที่สุด






Vitamin C Derivatives


เนื่องจากวิตามินซีรูปแบบดั้งเดิมมีข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องค่า pH ที่อาจก่อการระคายเคืองผิวได้ ความเสถียรต่ำเกิดการ Oxidize ได้ง่ายจึงทำให้อายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์น้อยลง (ต้นทุนของผลิตภัณฑ์จึงสูงขึ้น) จึงได้มีการพัฒนาวิตามินซีรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา

ข้อดีหลัก ๆ ของอนุพันธ์วิตามินซี ก็คือเรื่องความเสถียรและคงทนต่อแสงและออกซิเจนมากกว่า Ascorbic Acid (แต่ก็ยังคงต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมอย่างหลอดบีบทึบแสงหรือขวดปั้มทึบแสงเพื่อลดโอกาสที่วิตามินจะสัมผัสออกซิเจนให้มากที่สุดอยู่ดี) ข้อดีอีกประการหนึ่งคือไม่มีข้อจำกัดเรื่องค่า pH ทำให้ค่า pH ของผลิตภัณฑ์ที่ผสมอนุพันธ์วิตามินซี สามารถเป็นกลาง ( 4.5 – 5.5) จึงไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและอ่อนโยนกับผิวมากกว่า

สารในกลุ่ม Vitamin C Derivatives ที่พบได้บ่อยก็มีดังนี้


Magnesium Ascorbyl Phosphate /Magnesium l-ascorbic acid-2-phosphate


ชื่อย่อของ Magnesium Ascorbyl Phosphate ก็คือ MAP เป็นอนุพันธ์วิตามินซีตัวที่มีประสิทธิสูง มีความเสถียรมากพอสมควร คงตัวได้ดีแม้แต่ในสูตรผสมที่มีน้ำ (Ascorbic Acid แค่โดนน้ำก็เริ่มเสื่อมแล้ว) ไม่มีข้อจำกัดเรื่องค่า pH จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผิว sensitive หรือผู้ที่ไม่สามารถใช้วิตามินซีแบบ Ascorbic Acid ได้ (แต่ราคาต้นทุนของ MAP ก็แพงกว่า Ascorbic Acid 4 เท่าแน่ะ)

นอกจากคุณสมบัติร่วมในการเป็นแอนติออกซิแดนท์ที่ดีแล้ว MAP มีประสิทธิภาพในด้านการกระตุ้นการสังเคราะห์คอลาเจนในผิวได้เหมือนกับ Ascorbic Acid แม้จะใช้ในความเข้มข้นที่น้อยกว่า ส่วนเรื่องการลดเลือนจุดด่างดำจากเมลานินก็ต้องใช้ในความเข้มข้นระหว่าง 5 – 10% นอกจากนี้ MAP ยังช่วยลดการอักเสบของผิวได้อีกด้วย



Tetrahexyldecyl Ascorbate / Ascorbyl Tetraisopalmitate


อนุพันธ์วิตามินซีตัวใหม่นี้กำลังมาแรงใช่ย่อย คุณสมบัติที่แตกต่างหลัก ๆ ก็คือวิตามินซีตัวนี้ละลายใน “น้ำมัน” (วิตามินซีปกติจะละลายในน้ำ) แล้วละลายในน้ำมันนั้นดียังไงน่ะหรือ???

วิตามินซีเสื่อมได้เมื่อโดนน้ำ การทำวิตามินซีที่สามารถผสมในสูตรที่ปราศจากน้ำได้ นอกจากจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวในการเก็บรักษามากกว่า แน่นอนว่าแม้ขณะทาลงไปบนผิวก็ยังเสถียรกว่าด้วย ทางผู้ผลิตยังอวดอ้างสรรพคุณว่า Tetrahexyldecyl Ascorbate มีประสิทธิภาพมากกว่า Ascorbic Acid แต่เนื่องจากวิตามินตัวนี้ยังใหม่อยู่มาก จึงยังไม่มีการทดสอบใด ๆที่จะชี้ชัดหรือสรุปได้ว่า Tetrahexyldecyl Ascorbate จะดีกว่า Ascorbic Acid

นอกจากนี้ ข้อดีของการเป็นวิตามินซีที่ละลายในน้ำมันได้ จึงช่วยลดการเกิด Lipid Peroxidation ได้เหมือนกับวิตามินอีอีกด้วย



Ascorbyl Glucoside


ชื่อก็บอกใบ้เอาไว้อยู่แล้วว่าเป็นการเอา L-Ascorbic Acid มาเกี่ยวกับ Glucose เพื่อเพิ่มความเสถียร วิตามินตัวนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายมาก (โดยเฉพาะ Skincare จากญี่ปุ่น) ตามทฤษฏีที่ผู้ผลิตสารตัวนี้บอกมา เจ้า Ascorbyl Glucoside จะแตกตัวเป็น L-Ascorbic Acid กับ Glucose เมื่อทาลงบนผิว จึงทำให้ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกันกับ L-Ascorbic Acid โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเสถียร

แต่... มีเอกสารที่ยืนยันประสิทธิภาพของ Ascorbyl Glucoside ที่ทำขึ้นโดยหน่วยงานอิสระอยู่น้อยมาก (มีแต่เอกสารจากผู้ผลิต ซึ่งเชื่อถือไม่ค่อยได้เท่าไหร่) Ascorbyl Glucoside มีประสิทธิภาพในการเป็นแอนติออกซิแดนท์แน่นอน เรื่องกระตุ้นคอลาเจนหรือลดเลือนจุดด่างดำในทางทฤษฏีแล้วก็เป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติยังคงไม่แน่ชัดนัก



Ascorbyl Palmitate


เป็นวิตามินซีเสถียรที่ละลายในน้ำมันและใช้กันอย่างแพร่หลายอีกเหมือนกัน ยังไม่มีข้อดูใดมาสนับสนุนว่าจะมีประโยชน์ในด้านอื่นนอกจากเป็นสารแอนติออกซิแดนท์และสารกันบูดให้กับผลิตภัณฑ์



สรุป


ถ้าเราต้องการได้รับประโยชน์จาก Vitamin C Derivatives ก็ควรมองหา Magnesium Ascorbyl Phosphate จะชัวร์สุด ส่วน Tetrahexyldecyl Ascorbate ก็น่าสนใจมิใช่น้อย รองลงมาก็คงเป็น Ascorbyl Glucoside ทางด้าน Ascorbyl Palmitate ก็อย่าไปหวังอะไรมากนอกจากเป็นสารแอนติออกซิแดนท์






Vitamin C เสริมประสิทธิภาพของ Vitamin E ถ้าผสมหรือใช้ร่วมกัน






วิตามินซีจะเสริมประสิทธิภาพผิวในการลดความเสียหายจากรังสี UVA ส่วนวิตามินอีจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก UVB การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินทั้งสองตัวนี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของครีมกันแดดอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากนี้วิตามินซียังเป็นวิตามินที่แสนใจดี แจกอิเลคตรอนของตนเองให้กับโมเลกุลของวิตามินอีที่ผ่านการใช้งานแล้วให้กลับมา Active มีประสิทธิภาพอีกครั้ง


ที่มา http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=pupesosweet&month=24-10-2008&group=6&gblog=17