วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Vitamin C



หนึ่งในวิตามินยอดนิยมตลอดกาลคงจะหนีไม่พ้นวิตามินซี เราสามารถหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามิซีได้ไม่ยาก แต่การจะหาผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินซีในรูปแบบปละปริมาณเข้มข้นจริง ๆ นั้นเหมือนการงมเข็มในโอ่งทั่วราชบุรี (ก็ยังดีที่หาง่ายกว่าหาในทะเล) เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็คือวิตามินซีมีอยู่หลายรูปแบบ ซึงมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพมากน้อยไม่เท่ากัน ยังมีปัจจัยเรื่องความเข้มข้น ค่า pH และความเหมาะสมของบรรจุภัณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย





เรามักจะนึกถึง "ส้ม" เป็นอันแรกถ้าถามถึงผลไม้ที่มีวิตามินซี แต่จริง ๆ แล้ว "ฝรั่ง" หรือ "บล็อคโคลี่" นั้นมีวิตามินซีมากกว่าส้มอีกนะ


การที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากวิตามินซีนั้นไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วเดินสุ่มเข้าไปซื้อที่เคาเตอร์ตามคำโฆษณาก็จะได้ของดีมีประสิทธิภาพมาใช้ แต่จำเป็นต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานกันสักหน่อยว่า Vitamin C ตัวไหนที่เราควรมองหา และคาดหวังประสิทธิภาพอะไรได้บ้าง






ประเภทของ Vitamin C


Vitamin C ในรูปแบบดั้งเดิมก็คือ Ascorbic Acid / L- Ascorbic Acid ซึ่งไม่เสถียรและเสื่อม ( Oxidize) ได้ง่ายเมื่อโดนแสง ออกซิเจน รวมถึง “น้ำ” ด้วย จึงมีการพัฒนาวิตามินซีรูปแบบอื่นขึ้นมาเรียกว่า “อนุพันธ์วิตามินซี” หรือ Vitamin C Derivatives ซึ่งมีอยู่มากมายหลายตัว คุณสมบัติก็แตกต่างกันด้วยเช่นกัน ซึ่งจะขออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่าง






Vitamin C (Ascorbic Acid / L- Ascorbic Acid)


ว่ากันว่าวิตามินซีแบบ Ascorbic Acid เป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งให้ประโยชน์กับผิวได้หลากหลายเริ่มตั้งแต่

- Antioxidant ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอริ้วรอย

- ลดความเสียหายจากรังสี UV

- กระตุ้นการสร้างคอลาเจน ช่วยลดเลือนริ้วรอยเล็ก ๆ ได้

- ลดเลือนจุดด่างดำ ทำให้ผิวขาวขึ้น

แต่การที่จะได้ประโยชน์จาก Ascorbic Acid จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้


ค่า pH


ค่า pH ของผลิตภัณฑ์ก็มีความสำคัญมากกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Ascorbic Acid หรือ L-ascorbic Acid เนื่องจากวิตามิซีในรูปแบบดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพเมื่อค่า pH ของผลิตภัณฑ์ เป็นกรด (3.5 หรือต่ำกว่า) ซึ่งค่า pH ที่เป็นกรดนี้อาจทำให้เกิดการระคายเคือง แดง และ แสบยิบ ๆ เล็กน้อยชั่วคราวเมื่อใช้แรก ๆ บริษัทเครื่องสำอางบางยี่ห้อจึงหลีกเลี่ยงการถูกผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าอาการแดงแสบยิบ ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้คืออาการแพ้ จึงทำการปรับค่า pH ของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้นจนเป็นกลาง (4.5 – 7 ) ซึ่งไม่ทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองแต่ก็ทำให้วิตามินซีไม่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน



ความเข้มข้น


ขึ้นอยู่ว่าเราต้องการผลลัพธ์ในด้านใดบ้าง ถ้าหวังแค่เรื่องแอนติออกซิแดนท์ ความเข้มข้น 2 % ก็ถือว่าโอเคแล้ว แต่ถ้าหวังว่าจะให้วิตามินซีช่วยกระตุ้นการสร้างคอลาเจนหรือลดเลือนจุดด่างดำได้ ก็ต้องใช้ที่ความเข้มข้น 5% ขึ้นไป ระดับความเข้มข้นที่แนะนำจริงๆ ก็คือ 10 % หรือมากกว่า... แต่ก็ไม่ควรเกิน 20 %

ความเข้มข้นที่เหมาะจะเริ่มก็คือ 10% ถ้าสามารถรับได้ จะขยับขยายเพิ่มไปเป็น 12 หรือ 15% ก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกระคายเคืองก็ต้องลดความเข้มข้นลงมาหน่อย



เนื้อผลิตภัณฑ์


วิตามินซีในรูป Ascorbic Acid หรือ L-ascorbic Acid นั้นมีประสิทธิภาพมากแต่ก็ไม่ค่อยเสถียรสักเท่าไหร่ เมื่อเจออากาศและแสงจะเกิดการ Oxidize จนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซึ่งจะทำให้วิตามินซีไร้ประสิทธิภาพใด ๆ และอาจก่ออันตรายให้ผิวได้อีกด้วย บริษัทเครื่องสำอางเลยใช้วิธีขี้โกงด้วยการผสมสีให้เนื้อผลิตภัณฑ์มีสีเหลือง จะได้ดูไม่ออกว่าวิตามินซีในนั้นมันเสื่อมรึยัง ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่มาก ดังนั้นคุณจึงควรมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะใส ไม่ผสมสี เพื่อที่จะตรวจได้ว่าวิตามินซีเสื่อมสภาพรึเปล่า



บรรจุภัณฑ์


การเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะคงทราบกันดีแลวว่าวิตามินซีเสื่อมสลายได้ง่ายเมื่อเจอออกซิเจนและแสง บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระปุกจะทำให้วิตามินซีเสื่อมสภาพไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่เปิดฝาตักครีมขึ้นมาใช้ หลอดบีบหรือขวดปั้มที่ใสหรือโปร่งแสงก็ทำให้วิตามินเสื่อมไปได้เรื่อย ๆ อีกเหมือนกัน

บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมในการเก็บรักษาวิตามินซีควรจะลดโอกาสที่วิตามินจะสัมผัสกับแสงหรือออกซิเจนให้ได้มากที่สุด






Vitamin C Derivatives


เนื่องจากวิตามินซีรูปแบบดั้งเดิมมีข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องค่า pH ที่อาจก่อการระคายเคืองผิวได้ ความเสถียรต่ำเกิดการ Oxidize ได้ง่ายจึงทำให้อายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์น้อยลง (ต้นทุนของผลิตภัณฑ์จึงสูงขึ้น) จึงได้มีการพัฒนาวิตามินซีรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา

ข้อดีหลัก ๆ ของอนุพันธ์วิตามินซี ก็คือเรื่องความเสถียรและคงทนต่อแสงและออกซิเจนมากกว่า Ascorbic Acid (แต่ก็ยังคงต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมอย่างหลอดบีบทึบแสงหรือขวดปั้มทึบแสงเพื่อลดโอกาสที่วิตามินจะสัมผัสออกซิเจนให้มากที่สุดอยู่ดี) ข้อดีอีกประการหนึ่งคือไม่มีข้อจำกัดเรื่องค่า pH ทำให้ค่า pH ของผลิตภัณฑ์ที่ผสมอนุพันธ์วิตามินซี สามารถเป็นกลาง ( 4.5 – 5.5) จึงไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและอ่อนโยนกับผิวมากกว่า

สารในกลุ่ม Vitamin C Derivatives ที่พบได้บ่อยก็มีดังนี้


Magnesium Ascorbyl Phosphate /Magnesium l-ascorbic acid-2-phosphate


ชื่อย่อของ Magnesium Ascorbyl Phosphate ก็คือ MAP เป็นอนุพันธ์วิตามินซีตัวที่มีประสิทธิสูง มีความเสถียรมากพอสมควร คงตัวได้ดีแม้แต่ในสูตรผสมที่มีน้ำ (Ascorbic Acid แค่โดนน้ำก็เริ่มเสื่อมแล้ว) ไม่มีข้อจำกัดเรื่องค่า pH จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผิว sensitive หรือผู้ที่ไม่สามารถใช้วิตามินซีแบบ Ascorbic Acid ได้ (แต่ราคาต้นทุนของ MAP ก็แพงกว่า Ascorbic Acid 4 เท่าแน่ะ)

นอกจากคุณสมบัติร่วมในการเป็นแอนติออกซิแดนท์ที่ดีแล้ว MAP มีประสิทธิภาพในด้านการกระตุ้นการสังเคราะห์คอลาเจนในผิวได้เหมือนกับ Ascorbic Acid แม้จะใช้ในความเข้มข้นที่น้อยกว่า ส่วนเรื่องการลดเลือนจุดด่างดำจากเมลานินก็ต้องใช้ในความเข้มข้นระหว่าง 5 – 10% นอกจากนี้ MAP ยังช่วยลดการอักเสบของผิวได้อีกด้วย



Tetrahexyldecyl Ascorbate / Ascorbyl Tetraisopalmitate


อนุพันธ์วิตามินซีตัวใหม่นี้กำลังมาแรงใช่ย่อย คุณสมบัติที่แตกต่างหลัก ๆ ก็คือวิตามินซีตัวนี้ละลายใน “น้ำมัน” (วิตามินซีปกติจะละลายในน้ำ) แล้วละลายในน้ำมันนั้นดียังไงน่ะหรือ???

วิตามินซีเสื่อมได้เมื่อโดนน้ำ การทำวิตามินซีที่สามารถผสมในสูตรที่ปราศจากน้ำได้ นอกจากจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวในการเก็บรักษามากกว่า แน่นอนว่าแม้ขณะทาลงไปบนผิวก็ยังเสถียรกว่าด้วย ทางผู้ผลิตยังอวดอ้างสรรพคุณว่า Tetrahexyldecyl Ascorbate มีประสิทธิภาพมากกว่า Ascorbic Acid แต่เนื่องจากวิตามินตัวนี้ยังใหม่อยู่มาก จึงยังไม่มีการทดสอบใด ๆที่จะชี้ชัดหรือสรุปได้ว่า Tetrahexyldecyl Ascorbate จะดีกว่า Ascorbic Acid

นอกจากนี้ ข้อดีของการเป็นวิตามินซีที่ละลายในน้ำมันได้ จึงช่วยลดการเกิด Lipid Peroxidation ได้เหมือนกับวิตามินอีอีกด้วย



Ascorbyl Glucoside


ชื่อก็บอกใบ้เอาไว้อยู่แล้วว่าเป็นการเอา L-Ascorbic Acid มาเกี่ยวกับ Glucose เพื่อเพิ่มความเสถียร วิตามินตัวนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายมาก (โดยเฉพาะ Skincare จากญี่ปุ่น) ตามทฤษฏีที่ผู้ผลิตสารตัวนี้บอกมา เจ้า Ascorbyl Glucoside จะแตกตัวเป็น L-Ascorbic Acid กับ Glucose เมื่อทาลงบนผิว จึงทำให้ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกันกับ L-Ascorbic Acid โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเสถียร

แต่... มีเอกสารที่ยืนยันประสิทธิภาพของ Ascorbyl Glucoside ที่ทำขึ้นโดยหน่วยงานอิสระอยู่น้อยมาก (มีแต่เอกสารจากผู้ผลิต ซึ่งเชื่อถือไม่ค่อยได้เท่าไหร่) Ascorbyl Glucoside มีประสิทธิภาพในการเป็นแอนติออกซิแดนท์แน่นอน เรื่องกระตุ้นคอลาเจนหรือลดเลือนจุดด่างดำในทางทฤษฏีแล้วก็เป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติยังคงไม่แน่ชัดนัก



Ascorbyl Palmitate


เป็นวิตามินซีเสถียรที่ละลายในน้ำมันและใช้กันอย่างแพร่หลายอีกเหมือนกัน ยังไม่มีข้อดูใดมาสนับสนุนว่าจะมีประโยชน์ในด้านอื่นนอกจากเป็นสารแอนติออกซิแดนท์และสารกันบูดให้กับผลิตภัณฑ์



สรุป


ถ้าเราต้องการได้รับประโยชน์จาก Vitamin C Derivatives ก็ควรมองหา Magnesium Ascorbyl Phosphate จะชัวร์สุด ส่วน Tetrahexyldecyl Ascorbate ก็น่าสนใจมิใช่น้อย รองลงมาก็คงเป็น Ascorbyl Glucoside ทางด้าน Ascorbyl Palmitate ก็อย่าไปหวังอะไรมากนอกจากเป็นสารแอนติออกซิแดนท์






Vitamin C เสริมประสิทธิภาพของ Vitamin E ถ้าผสมหรือใช้ร่วมกัน






วิตามินซีจะเสริมประสิทธิภาพผิวในการลดความเสียหายจากรังสี UVA ส่วนวิตามินอีจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก UVB การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินทั้งสองตัวนี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของครีมกันแดดอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากนี้วิตามินซียังเป็นวิตามินที่แสนใจดี แจกอิเลคตรอนของตนเองให้กับโมเลกุลของวิตามินอีที่ผ่านการใช้งานแล้วให้กลับมา Active มีประสิทธิภาพอีกครั้ง


ที่มา http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=pupesosweet&month=24-10-2008&group=6&gblog=17

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

บุหรี่ ทำร้ายผิวสวย




ผิวพรรณที่คุณพยายามรักษา จะทา whitening เข้าสปา อบไอน้ำ แช่น้ำนมเท่าไหร่ก็ไม่ช่วย ถ้าคุณยังสูบบุหรี่อยู่

ผิวคุณจะเกิดริ้วรอยก่อนวัย เพราะบุหรี่ทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้ร่างกายได้รับอ็อกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทั้งเจ้าคอลลาเจน และอีลาสตินซึ่งเป็นสองตัวสำคัญสำหรับผิวลดลง ตอนนี้คุณสาวๆ อาจไม่เห็นว่าริ้วรอยจะเกิดก่อนวัยตรงไหน ยังสวยปิ๊งเหมือนเดิมนี่นา จำไว้เลยนะคะว่าสารพิษในบุหรี่ ใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะเห็นผล กว่าจะรู้ตัวก็ไม่ทันแล้วละค่ะ

ใบหน้าโทรม ซีดเซียว ริ้วรอยรอบริมฝีปาก ปากดำคล้ำ ลักษณะทั้งหมดนั่นเกิดขึ้นกับคนสูบบุหรี่ มันทำให้เราเสียบุคลิกนะคะคุณ

สาว ๆ นักสูบขา ริ้วรอยไมได้เกิดบนหน้าเราเท่านั้นนะคะ ทั้งลำคอ แขน ขาก็ไม่รอดค่ะ ครีมบำรุงผิวเริ่ดแค่ไหน ก็เอาไม่อยู่ ถ้ายังไม่หยุดสูบ

ผิวแห้งกร้าน เพราะเจ้านิโคตินในบุหรี่นี่แหละค่ะ ที่เป็นตัวดูดความชุ่มชื้นไปจากผิวเรา นอกจากนั้นแล้ว ควมร้อนตอนจุดบุหรี่ยังตามมาทำร้ายริมฝีปาก และทิ้งรอยร่องแก้มเป็นของแถมด้วยค่ะ

ที่มา

understanding skin anatomy


การดูแลผิวและการเลือกซื้อ Skincare อย่างฉลาดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร คุณจะสามารถรู้ทันกลลวงส่วนใหญ่ของวงการเครื่องสำอางได้ ถ้าคุณเสียสละเวลาสักเล็กน้อยในการทำความเข้าใจ “โครงสร้างของผิว”

สาว ๆ หรือหนุ่ม ๆ (หรือไม่สาวไม่หนุ่ม) ที่รักการบำรุงผิวทั้งหลาย ถ้ามีคนมาถามว่า “โครงสร้างผิวเป็นยังไง?” หลายคนคงทำหน้าเหลอหลาบ้าใบ้ตะลึงบอด้วยความมึนงงก่อนจะตอบว่า “แล้วตูจะไปรู้เหรอ?” (ทั้ง ๆที่น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาเวลาเรียนชั่วโมงวิทยาศาสตร์มาบ้าง)

ถ้าลืมแล้วก็ไม่เป็น เรามาดูกันแบบคร่าว ๆ เพื่อความเข้าใจดีกว่า





ผิวประกอบไป 3 ชั้นใหญ่ ๆ คือชั้นนอก (Epidermis) ชั้นใน(Dermis) และ ชั้นไขมัน (Subcutaneous fat)


ผิวชั้นนอก (Epidermis)


เป็นส่วนที่อยู่นอกสุดของผิว ในชั้นนี้ก็ยังแบ่งย่อย ๆ ได้อีก 4 ชั้น โดยชั้นที่อยู่ลึกสุดของผิวชั้นนอกก็คือ Basal Cell Layer เหนือขึ้นมาก็เป็น Spinous Cell Layer ถัดขึ้นมาอีกก็เป็น Granular Cell Layer ส่วนชั้นนอกสุดที่เราประโคมปะครีมลงไปทุกทุกวันก็คือ Stratum Corneum หรือผิวชั้นขี้ไคลนั่นเอง









- Basal Cell Layer เป็นชั้นที่เซลล์ผิวกำเนิดและแบ่งตัวขึ้นมาใหม่โดยใช้สารอาหารและพลังงานจากเส้นเลือดฝอยที่อยู่ในผิวชั้นกลาง ผิวสุขภาพดีที่ไม่โดนทำร้ายจากแสงแดดหรือมลภาวะและปัจจัยลบภายนอก (อย่างผิวเด็ก) การแบ่งตัวของเซลล์ก็จะสมบูรณ์ดีมีรูปทรงที่ถูกต้องและทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ เมื่อถูกเลื่อนออกมาเป็นผิวชั้นนอกสุดมันก็เลยดูเรียบเนียน แต่ถ้าผิวถูกทำร้ายจากแสงแดดหรือมลภาวะ เซลล์ผิวก็จะแบ่งตัวอย่างไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม รูปทรงของเซลล์อาจจะไม่สมบูรณ์ ทำให้ผิวที่เกิดใหม่และถูกดันออกมาสู่ภายนอกนั้นดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่

สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุด (เท่าที่เป็นที่ยอมรับกัน) ก็คือสารกลุ่ม Retinoid โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กรดวิตามินเอ” หรือ Retinoic Acid อย่างเช่น Tretinoin (Retin-A, Renova) Tazarotene (Tazorac) และ Adapalene (Differin) ซึ่งเป็นสารที่ขึ้นทะเบียนยา ไม่สามารผสมลงในเครื่องสำอางหรือเวชสำอางได้ (จริงๆ แล้วเวชสำอางก็คือเครื่องสำอางธรรมดาขอรับ อย่าเข้าใจผิดไป) ส่วนผสมของ Retinol, Retinaldehyde, Retinyl palmitate ที่ใส่ในเครื่องสำอาง (ซึ่งมักใส่มาในปริมาณน้อยมาก) จะต้องไปแตกตัวให้กลายเป็น Retinoic Acid อีกทีเมื่อทาลงไปบนผิว แน่นอนว่าเมื่อแตกตัวแล้วมันก็ยิ่งมีปริมาณน้อยลงไปอีก ดังนั้นสารพวก Retinoid ใน “เครื่องสำอาง” ก็มีประสิทธิภาพบ้าง (ถ้ามีในปริมาณที่เหมาะสม) แต่ก็ไม่สามารถเทียบเท่า “ยา” ได้เลยแม้แต่น้อย

ส่วนสารอื่น ๆ ในเครื่องสำอางที่สามารถช่วยให้เซลล์ผิวทำงานได้ดีขึ้นจะเรียกว่า “Cell Signaling Substance” หรือ “Cell Communicating Ingredients” ส่วนผสมเหล่านี้ได้แก่ Epigallocatechin-3-Gallate, Eicosapentaenoic Acid, Niacinamide, Lecithin, Linolenic Acid, Linolenic Acid, Phospholipids, Carnitine, Carnosine, Adenosine Triphosphate, Adenosine Cyclic Phosphate, Palmitoyl Oligopeptide, Palmitoyl Tripeptide-3 และ Pyrus Malus (Apple) Fruit Extract.


(Sources : Microscopy Research and Technique, January 2003, pages 107–114; Nature Medicine, February 2003, pages 225–229; Journal of Investigative Dermatology, March 2002, pages 402–408; International Journal of Biochemistry and Cell Biology, July 2004, pages 1141–1146; Experimental Cell Research, March 2002, pages 130–137; Skin Pharmacology and Applied Skin Physiology, September-October 2002, pages 316–320; and http://www.signaling-gateway.org)


- Spinous Cell Layer เมื่อเซลล์ผิวที่เกิดใหม่ถูกผลักให้เลื่อนขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงชั้นนี้ มันก็จะเริ่มมีรูปทรงที่เปลี่ยนไป จะเริ่มฝ่อเล็กลีบลงเพราะมันห่างจากเส้นเลือดที่ให้พลังงานกับมัน


- Granular Cell Layer เมื่อเซลล์ผิวถูกดันจนมาถึงชั้นนี้มันก็จะเริ่มแบนและตายลงเพราะขาดสารอาหารมาหล่อเลี้ยงและจะเรียกเซลล์ผิวที่ตายแล้วนี้ว่า Keratin (เป็นโปรตีนชนิดเดียวกับที่อยู่ในเล็บและเส้นผม)


- Stratum Corneum หรือผิวชั้นขี้ไคลเป็นส่วนที่อยู่นอกสุดของผิวชั้นนอก (ซึ่งเป็นส่วนที่เราเห็นและทาครีมบำรุงลงไปทุกวัน) พวก Skin-Care ที่ใช้กันทุกวันเนี่ย เกือบทั้งหมดไม่ว่าจะราคาถูกไม่กี่สิบบาทยันแพงเหยียบหมื่น มันก็ทำหน้าที่หลัก ๆ ในการเคลือบผิวชั้นนอกซะส่วนใหญ่ อาจจะมีคุณสมบัติพิเศษช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดไปเผยผิวใหม่ที่อยู่ถัดมาซึ่งมีสภาพดีกว่า แต่ถ้าคุณเลือกตัวที่มีส่วนผสมดี ๆ ก็สามารถกระตุ้นเซลล์ผิวที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นสมบูรณ์ขึ้นได้เหมือนกัน


สรุปคือ

ผิวชั้นนอก (Epidermis) ก็เป็นเสมือนหน้าตาของเรา ผิวเราจะดูดีหรือไม่ดี จะใสหรือไม่ใส หมองหรือไม่หมองก็อยู่กันที่ผิวชั้นนอกนี้นี่แหล่ะ

ริ้วรอยเล็ก ๆ จาง ๆ หรือ Fine Lines จะเกิดอยู่ในชั้นนี้ซึ่งมีปัจจัยหลัก ๆ มาจากความแห้งกร้าน (เซลล์ผิวมันเหี่ยวๆ ) การทามอยซ์เจอไรเซอร์ที่ให้ความชุ่มชื้นทั่วไปสามารถทำให้ริ้วรอยแบบนี้จางหายไปได้ (พอเซลล์ผิวมันอิ่ม ผิวก็ตึงขึ้นทำให้ริ้วรอยแบบนี้หายไป)

และจงจำไว้ว่า มอยซ์เจอไรเซอร์ ไม่ว่าจะเป็น Water, Emulsion, Serum, Lotion, Cream มันก็ช่วยบำรุงแค่ผิวชั้นนอกทั้งนั้นแหล่ะ เลิกเชื่อตามที่พวกบริษัทเครื่องสำอางหรือ BA เขาบอก เขาหลอกว่า “Serum จะบำรุงลึกถึงผิวชั้นในและ อย่างอื่นจะบำรุงแค่ผิวชั้นนอก” กันได้แล้ว...






ผิวชั้นใน (Dermis)


ชั้นนี้เป็นชั้นที่หนาที่สุดของผิว ประกอบไปไขมัน คอลาเจน และอีลาสติน ในชั้นนี้ยังประกอบไปด้วยเส้นเลือดที่คอยเติมพลังงานและออกซิเจนให้กับเซลล์ผิว ร่างกายเขาเติมออกซิเจนกับผิวเองอยู่แล้ว ถ้าอยากจะเพิ่มออกซิเจนให้ผิวก็กินอาการดี ๆ บำรุงสุขภาพให้แข็งแรงและสูดอากาศบริสุทธิ์จะดีกว่า เพราะการทาผลิตภัณฑ์หรือครีมบำรุงที่บอกว่าช่วยปลดปล่อยออกซิเจนให้ผิวเนี่ย ดูจะเป็นผลเสียซะมากกว่า เพราะออกซิเจนจากภายนอกทำให้เกิดอนุมูลิสระ ซึ่งทำให้ผิวถูกทำร้ายและแก่เร็ว...

อายุวัยที่เพิ่มขึ้น ปริมาณไขมัน คอลาเจน และอีลาสติน ก็จะสูญสลายไปเร็วขึ้นสวนกระกระแสการผลิตทดแทนที่ช้าและลด การเผชิญกับแสงแดดโดยไม่ป้องกัน ปัจจัยลบภายนอกอย่างมลภาวะ ควันบุหรี่ก็ทำให้กระบวนเสื่อมถอยนี้เร็วขึ้น เมื่อโครงสร้างที่คอยโอบอุ้มผิวลดน้อยลง ผิวก็จะเกิดเป็นริ้วรอยลึก หรือ Wrinkle ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีเครื่องสำอางตัวไหนสามารถกำจัดริ้วรอยลึกให้หายไปจากผิวหน้าคุณได้ อย่างดีที่สุดก็คือช่วยทำให้ริ้วรอยดูตื้นขึ้นเล็กน้อยถ้าคุณใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมอย่างเช่นวิตามินซีเข้มข้น (5 - 10 % ขึ้นไป) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถกระตุ้นการสร้างคอลาเจนได้จริง

แต่วิธีที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด และอาจจะถูกที่สุด ก็คือการ “ชะลอ” การเกิดริ้วรอย ด้วยการปกป้องผิวจากแสงแดดเป็นประจำทุกวัน ทา Skin-Care ที่มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้แก่เร็วทั้งหลาย อย่างเช่นบุหรี่... นอกจากนี้ยังต้องบำรุงสุขภาพจากภายในด้วยการรับประทานอาหารถูกหลัก พักผ่อนเพียงพอ รวมถึงมีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย


สรุปคือ

ผิวชั้นใน (Dermis) จะเป็นจุดที่ริ้วรอยลึกเกิดขึ้น ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าเครื่องสำอาง (และเวชสำอาง) ไม่สามารถแก้ไขในจุดนี้ได้ ถ้าจะแก้ไขก็ต้องพึ่งการทำทรีตเมนท์จากแพทย์ผิวหนังหรือการศัลยกรรมความงามเท่านั้น

ถ้าเข้าใจในจุดนี้แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินแพง ๆ เพื่อซื้อครีมเทพที่อวดอ้างว่ามหัศจรรย์ทั้งหลายแหล่มาใช้ให้เปลืองเงินเปล่า ๆ เพราะไม่ว่ามันจะโคตรรอภิมหาแพงแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นโดยการขจัดริ้วรอยลึกให้ออกไปจากหนังหน้าของคุณได้ สู้เอาเงินไปทำ Botox หรือ Derma Filler ยังจะเห็นผลเร็วกว่า (ดีไม่ดีจะถูกเงินกว่าอีกต่างหาก)






ผิวชั้นไขมัน (Subcutaneous fat)


ตรงนี้เป็นส่วนของไขมันที่สะสมใต้ผิว เป็นตัวกำหนดรูปร่างของเราว่าผอมสวยหรืออวบอ้วน เป็นตัวรับแรงกระแทกและก็เป็นฉนวนเพื่อรักษาอุณหภูมิในร่างกาย ส่วนนี้ไม่ค่อยเกี่ยวอะไรกับ Skin-Care เท่าไหร่ เพราะไม่มีทางที่จะไปทำอะไรมันได้อยู่แล้ว (เป็นการบอกกลาย ๆ ว่าผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าลดเซลลูไลท์หรือผิวเปลือกส้มทั้งหลายนั้น.... มันช่วยอะไรไม่ได้หรอก)






Exfoliate


ตามปกติแล้ว ร่างกายมนุษย์จะมีกลไกในการ Exfoliate ผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพนี้ออกไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลา แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นหรือเผชิญปัจจัยลบภายนอกอย่างแสงแดดหรือมลภาวะ การผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาตินี้ก็จะด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้ชั้นขี้ไคลหนาตัวขึ้น ส่งผลให้ผิวดูหมองคล้ำไม่สดใส และมันก็ไปบดบังรูขุมขนไม่ให้ไขมันที่ผลิตออกมาสามารถไหลระบายออกได้สะดวก จึงส่งผลต่อเนื่องเป็นสิวอุดตัน (ซึ่งสิวอุดตันก็จะสามารถติดเชื้อและหลายเป็นสิวอักเสบได้เหมือนกัน) ดังนั้นการใช้สารที่ช่วยทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพที่เกาะยึดกันแน่นนี้หลุดลอกออกไปได้อย่าง AHAs หรือ BHA ก็จะช่วยทำให้ผิวดูเรียบเนียนและกระจ่างขึ้น และช่วยลดโอกาสที่ผิวจะอุดตันได้อีกด้วย








ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่อง การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วย Exfoliate ผลัดเซลล์ผิวอย่าง AHAs หรือ BHA ว่าจะทำให้ “หน้าบาง” ลงนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย

สารอย่าง AHAs และ BHA จะไป Exfoliate เฉพาะเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพหรือขี้ไคลออกไปเท่านั้น ไม่ได้ไปลอกเอาผิวหนังในชั้นที่ลึกกว่านี้ออกไป ในทางกลับกัน การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี AHAs เข้มข้นเหมาะสม จะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลาเจนในผิวชั้นในได้ (ซึ่งดูแล้วจะทำให้ผิวหนาขึ้นซะมากกว่า)

แน่นอนว่าผิวชั้นขี้ไคลที่สะสมจนหนาตัวนั้นก็มีประโยชน์ในการปกป้องผิวจากปัจจัยภายนอกและแสงแดดได้เหมือนกัน การไปลอกเอาขี้ไคลออกก็ทำให้ผิวไวต่อแสงแดดและปัจจัยภายนอกมากกว่าตอนที่ยังไม่ได้ Exfoliate ผิว ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกว่าโดนแดดมากเหมือนเดิมไม่ได้ รู้สึกแสบผิว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผิวคุณบางลง...

คุณก็ต้องมาเลือกเอาเองว่าอย่างไหนจะให้ประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน ถ้าคุณคิดว่าการ Exfoliate ไม่ดีกับผิว ทำให้ผิวไวแสงมากขึ้น คุณก็ไม่ต้องมาบ่นว่าทำไมผิวหมองคล้ำไม่สดใสหรือเป็นสิวอุดตันง่าย

ความจริงในข้อนี้ก็สามารถอธิบายความเชื่อที่ว่า “ไปหาหมอ ใช่ยาหมอแล้วหน้าบาง” ได้เหมือนกัน เพราะว่ายารักษาสิวที่มีประสิทธิภาพส่วนใหญ่จะเป็น Keratolytic Agent อย่าง Benzoyl Peroxide, Tretinoin (Retin-A, Renova) Tazarotene (Tazorac) และ Adapalene (Differin)






Acid Mantle


แปลเป็นไทยว่า "สภาพกรด" ของผิวหนัง ผิวสุขภาพดีจะมีค่า pH เป็นกรดอ่อน ๆ (4 - 6) โดยความเป็นกรดของผิวแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ความเป็นกรดอ่อนของผิวหนังนี้จะช่วยยับบั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราได้ บริเวณที่อับชื้นอย่างรักแร้ หรื่อง่ามเท้านั้นน้ำสามารถระเหยออกได้ยาก ทำให้ค่า pH มากกว่า 6 จึงทำให้แบคทีเรียและเชื้อราที่เจริญเติบโตได้ดีในช่วงค่า pH 6 - 7.5 สามารถเจริยญเติบโตได้ดี (ทำให้เกิดกลิ่นมาดามหอมชื่นใจ)

การใช้ Cleanser ที่ทำลายค่าความเป็นกรดอ่อนของผิว อย่างเช่น "สบู่ก้อน" (Soap) ที่ปกติมีค่า pH เป็นด่างนั้น (ค่า pH ประมาณ 7 - 10) จะทำให้ชั้น Acid Mantle ถูกทำร้ายและทำให้ค่า pH ของผิวเพิ่มขึ้น ถึงแม้ผิวที่สุขภาพดีก็จะสามารถปรับค่า pH ตัวเองให้กลับมาเป็นกรดอ่อนอย่างเดิมได้ภายใน 30 นาที แต่การทำให้ผิวต้องเผชิญกับปัจจัยที่บ่อนทำลาย Acid Mantle ต่อเนื่อง ผิวก็จะใช้เวลานานมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการที่จะปรับค่า pH ลง ซึ่งเปิดโอกาสให้แบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตบนผิวและรูขุมขนได้ดี ลดความต้านทานของเคราตินที่ปกป้องผิวลง ทำให้ผิวหนังมีความเปราะบาง หยาบ แห้งกร้านตามมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสู่ปัญหาผิวอื่น ๆ ต่อไป






Skin Life Cycle


วงจรของผิวตั้งแต่การเกิดใหม่ที่ชั้น Basal Cell Layer และถูกดันออกมาเรื่อยผ่านชั้น Spinous Cell Layer กับ Granular Cell Layer จนมาถึงชั้นนอกสุดก็คือ Stratum Corneum นั้นใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 28 วัน ในผิวสุขภาพดี (แต่ถ้าผิวที่อ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ หรือผู้ที่มีอายุมาก ก็จะใช้เวลานานกว่านั้น)

ดังนั้น เครื่องสำอาง Skin-Care ที่กล่าวอ้างว่า “เห็นผลในทันที” “ริ้วรอยเลือนหายใน 7 วัน” “ผิวขาวขึ้นใน 2 สัปดาห์” มันเป็นไปไม่ได้หรอก...

Skin-Care พวกนี้จะใส่สารพวกซิลิโคนที่ไปเติมเต็มร่องริ้วรอยในทันทีที่ใช้ (ซึ่งเป็นผลชั่วคราวเมื่อล้างก็หลุดออก) และอาจจะใส่พวก Polymer ที่เมื่อแห้งแล้วจะเป็นฟิลม์หดตัวช่วยทำให้ผิวรู้สึกว่าถูกยกและกระชับขึ้น (ซึ่งก็เป็นผลชั่วคราวอีกเหมือนกัน) และก็อาจจะใส่ Pigment ที่ช่วยสะท้อนแสง ทำให้ผิวดูขาวขึ้น ริ้วรอยดูจางลง ผิวดูกระจ่างขึ้น (ซึ่งก็เป็นผลทางคอสเมติคชั่วคราวอีกแล้ว)

อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านคงจะเริ่มเข้าใจว่า Skin-Care ที่เราทาลงไปบนผิวเนี่ย มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือฟื้นฟูเซลล์ผิวที่ตายไปแล้วได้ (อย่างชั้นขี้ไคล) ที่เราทำได้ดีที่สุดคือการปกป้องผิวจากปัจจัยลบภายนอกด้วยครีมกันแดดและสารแอนติออกซิแดนท์ และทา Skin-Care ที่มีส่วนผสมของ Cell Signaling Substance เพื่อให้ผิวที่เกิดใหม่นั้นเป็นปกติและทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนเรื่องริ้วรอยลึกหรือผิวหย่อยคล้อยขาดความกระชับ ต้องพึ่งแพทย์ผิวหนังหรือแพทย์ศัลยกรรมความงามเท่านั้น...